ผู้ใช้งาน 3 ท่าน ผู้เข้าชม 51954 ครั้ง   





       เว็บไซต์กลุ่มอำนวยการ สพป.ชร เขต 1        



องค์ประกอบของภาพ
องค์ประกอบของภาพ
 
 
องค์ประกอบของภาพ(Composition)
คำจำกัดความ การจัดองค์ประกอบภาพ (Composition)
วรรณกรรมถูกแต่งขึ้นเป็นโคลงกลอนหรือบทกวีต่าง ๆ ดนตรีประกอบไปด้วยส่วนประกอบของคุณสมบัติทางเสียง เช่น ระดับเสียง การผสมผสานของดนตรี ความดัง ความสอดคล้องกันและจังหวะ เช่นเดียวกับส่วนประกอบของภาพถ่ายก็มีคุณสมบัติทางด้านการเห็น เช่น เส้น (line) น้ำหนักของโทน (tone) ความตัดกัน (contrast) และสี (color) ช่างภาพจะต้องพยายามจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ตามการมองเห็น (sight) ของคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้ให้เหมาะสมสอดคล้องต้องกัน
ดังนั้นการจัดองค์ประกอบภาพ ก็หมายถึงการจัดวาง (organize) องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในภาพซึ่งความจริงก็คือ การจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้เห็นในช่องมองภาพ (view finder) นั่นเอง เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบในภาพทั้งสิ้น ภาพจะดูเหมาะสมและน่าดูก็อยู่ที่การจัดองค์ประกอบของภาพนั่นเอง
การจัดองค์ประกอบภาพมี 2 ประเภท
1. ประเภทที่ 1 ได้แก่ การจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ของวัตถุในภาพนั้นให้อยู่ในตำแหน่งใด ๆ ก็ได้ เช่น ในกรณีถ่ายภาพนิ่งของภาพคน ภาพสัตว์ เพราะเราสามารถควบคุม subject เหล่านี้ให้อยู่ในตำแหน่งหรือมีลักษณะอย่างไรก็ได้ตามที่เราต้องการเพื่อให้องค์ประกอบในภาพนั้นเหมาะสม น่าดู
2. ประเภทที่ 2 ได้แก่ การจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถไปจัดหรือควบคุมตามที่เราต้องการตามใจชอบได้ เช่น ถ่ายภาพทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง และเหตุการณ์ที่การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วบางอย่าง
การควบคุมให้ส่วนต่าง ๆ ส่วนประกอบ(element) ปรากฏในภาพอย่างพอเหมาะพอดีนั้น ถึงแม้ว่าจะเคลื่อนไหวโยกย้ายวัตถุเหล่านี้ไม่ได้ แต่ผู้ถ่ายภาพก็มีวิธีการบางอย่างที่จะช่วยแก้ไขในการจัดภาพ เพื่อให้วัตถุอยู่ในจุดหรือตำแหน่งที่ต้องการได้
หน้าที่อันสำคัญของการจัดองค์ประกอบของภาพถ่ายก็คือการทำให้ผู้ดูรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่าง ๆ ในภาพ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ชองช่างภาพที่ได้รับรู้มา
การประกอบภาพให้ได้ผลสำเร็จ ช่างภาพจะต้องมีความกระจ่างในใจว่าอะไรคือ สาร(Message)  ความคิด(idea) ความรู้สึก(feeling) หรืออารมณ์(mood) ที่ต้องการให้ภาพถ่ายแสดงออกมาให้เห็น
การจัดองค์ประกอบที่ดี โดยปกติทั่วไปก็หมายถึง ส่วนประกอบ (elements) ต่าง ๆ ในภาพได้รับการเลือก เน้นความสำคัญ และตัดส่วนอื่น ๆ ให้มีความสำคัญอันดับรองลงมา การรวมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันในภาพจะต้องมีความผสมกลมกลืนเป็นหน่วยเดียวกัน เพื่อบอกเรื่องราวเพียงเรื่องเดียว และรวมความคิดได้เพียงความคิดเดียว
สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ เมื่อมีการเลือกรายละเอียดต่าง ๆ ให้รวมอยู่ในภาพและกำจัดส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะมารบกวนจุดเด่นออกไป เน้นรายละเอียดของส่วนที่สำคัญเป็นพิเศษ ส่วนนี้เราเรียกว่า ศูนย์ความสนใจ (Center of interest)
การเลือกจุดสนใจหลักในภาพนั้นขึ้นอยู่กับช่างภาพแต่ละคนว่าจะมองในจุดใด ช่างภาพ 2 คน อาจจะมองวัตถุเดียวกันไม่เหมือนกัน การจัดองค์ประกอบจะต่างกันไปตามความพยายามที่จะสื่อความหมายความคิดของแต่ละคน ดังนั้น ศูนย์ความสนใจอาจแปรเปลี่ยนไป รายละเอียดบางอย่างอาจถูกบรรจุไว้ แต่อาจถูกกำจัดออกไปโดยบางคนรายละเอียดบางอย่างอาจได้รับการเน้นความสนใจ แต่บางคนอาจจัดเป็นสิ่งรองลงไปก็ได้ ผู้ถ่ายภาพจะต้องแสดงให้ผู้ดูได้มองเห็นรายละเอียด และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านั้นตามที่คิดว่าสำคัญ โดยผ่านการจัดองค์ประกอบของภาพ สิ่งที่ปรากฏในภาพไม่เพียงแต่บอกว่า ได้เห็นอะไรบ้าง แต่ควรบอกว่าผู้ถ่ายภาพมีความคิดและความรู้สึกต่อสิ่งที่เห็นอย่างไรด้วย
หลักเกณฑ์ในการจัดองค์ประกอบของภาพ
การควบคุมรายละเอียด รายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพนั้นควรได้รับการเลือกว่ารายละเอียดส่วนไหนควรจะบรรจุไว้ในภาพหรือควรจะกำจัดออกไป ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดประการหนึ่งของผู้ถ่ายภาพหัดใหม่ก็คือ มักจะพยายามบรรจุรายละเอียดต่าง ๆ เข้าไปมากเกินไป จึงควรพยายามตัดสินใจว่า อะไรที่เป็นจุดสำคัญ และอะไรที่ไม่ได้เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าสิ่งที่ไม่ใช่เป็นรายละเอียดที่สำคัญอาจทำให้ผู้ดูหันเหความสนใจไปจากศูนย์รวมความคิดของภาพ จึงควรกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปเสีย
ตัวอย่างของรายละเอียดที่มากเกินไปได้แก่ ฉากหลังที่ยุ่งเหยิง ทำให้วัตถุที่ถูกบันทึกภาพไม่ปรากฏเด่นชัด ถูกกลืนไปกับฉากหลัง ดังนั้นจึงควรพยายามเลือกฉากหลังที่เป็นกลาง(neutral background) สำหรับวัตถุที่จะบันทึก ขจัดส่วนประกอบและรายละเอียดที่ทำให้ไขว้เขวออกไป
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ส่วนของฉากหลังที่ปรากฏออกมา เป็นส่วนเกินของวัตถุเช่น ต้นไม้หรือเสา โผล่ออกมาจากศีรษะของคน เป็นต้น ลักษณะนี้เราเรียกว่า Sprout หรือ Mergers ทำให้วัตถุถูกรบกวน
ตัวอย่างสุดท้าย คือ รายละเอียดมีมากเกินไป ทำให้ภาพถ่ายไม่มีศูนย์ความสนใจ ในกรณีนี้รูปภาพแสดงรายละเอียดมากแต่ขาดการสื่อความหมายในความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพ ไม่มีส่วนที่เด่นและส่วนที่สำคัญรองลงมาทุกสิ่งปรากฏเท่ากันหมด
วิธีแก้ไขรายละเอียดที่มีมากเกินไปก็คือ ควรพยายามเลือกฉากหลังที่เป็นกลาง โดยเลื่อนหามุมกล้องให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดให้วัตถุอยู่ในฉากหลังที่เป็นกลางได้ก็ต้องใช้เทคนิคการถ่ายภาพวัตถุให้มีความชัดตื้นด้วยการเปิดเลนส์ให้กว้างขึ้น ฉากหน้าและฉากหลังก็จะอยู่นอกระยะชัดไป แต่ยังคงความคมชัดของวัตถุที่ต้องการไว้ได้ เทคนิคนี้นิยมใช้ถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็ก เช่น ดอกไม้ที่ต้องการให้โดดเด่นออกมาจากฉากหลังอย่างสวยงาม
การเลือกระยะโฟกัส เป็นทางหนึ่งในการควบคุมรายละเอียดของภาพได้ การถ่ายภาพวัตถุระยะไกล จะมีรายละเอียดของวัตถุโดยรอบมากเกินไป ด้วยการเคลื่อนกล้องเข้าไปใกล้วัตถุนั้นมากขึ้น และโฟกัสเฉพาะจุดที่ต้องการเท่านั้น รายละเอียดที่อยู่ในระยะใกล้กว่าหรือไกลกว่าจากส่วนที่โฟกัสจะปรากฏอยู่นอกระยะโฟกัส
การควบคุมขนาด การควบคุมความสัมพันธ์ทางด้านขนาด ช่วยเน้นรายละเอียดหลักและรายละเอียดรองได้ สายตาของผู้ดูจะให้ความสนใจสูงต่อวัตถุที่มีขนาดใหญ่ในภาพด้วย และให้ความสนใจน้อยต่อวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าวิธีการที่ดีคือ เคลื่อนกล้องเข้าไปใกล้วัตถุที่ต้องการให้เป็นจุดเด่นหลักจนกระทั่งวัตถุปรากฏมีขนาดใหญ่กว่ารายละเอียดอื่น ๆ ในภาพรายละเอียดที่มีขนาดเล็กกว่าจะเน้นวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่าให้เด่นขึ้นมา
การวางตำแหน่งของจุดเด่นหลัก การจัดวางตำแหน่งรายละเอียดต่าง ๆ ภายในกรอบของภาพถ่าย สามารถทำให้เกิดผลด้านความคิดและความรู้สึกได้เช่นเดียวกัน การวางตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับจุดสนใจในภาพ (point of interest) มีหลักเกณฑ์ที่นิยมกันโดยทั่วไปก็คือ กฎสามส่วน (rule of thirds)
กฎสามส่วน กล่าวว่า ไม่ว่าภาพจะอยู่ในแนวตั้งหรือแนวนอนก็ตาม หากเราแบ่งภาพนั้นออกเป็นสามส่วนตามแนวตั้งและแนวนอนแล้วลากเส้นแบ่งภาพทั้ง 3 เส้น จุดตัดกันของเส้นทั้ง 4 จุดนี้ จะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับจัดวางวัตถุที่ต้องการจะเน้นให้เป็นจุดเด่นหลักส่วนรายละเอียดอื่น ๆ จะเป็นส่วนสำคัญอันดับรองลงมา การวางตำแหน่งของจุดเด่นหลักนี้อาจถือเอาบริเวณใกล้เคียงจุดทั้ง 4 จุดนี้ก็ได้(ดังภาพด้านบน)
ความสมดุลย์ ความสมดุลย์ในการจัดองค์ประกอบของภาพ ได้แก่การจัดให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพให้มีลักษณะที่มีน้ำหนักเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะของการสมดุลย์นี้มี 2 ประเภท คือ
1. ความสมดุลย์แบบปกติ คือ การจัดให้ส่วนประกอบในภาพเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน ซ้าย – ขวา เท่ากัน เช่น ภาพอาคารที่มีส่วนประกอบด้านซ้ายและขวาเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน ความสมดุลย์แบบนี้จะให้ความรู้สึกถึงความมั่นคง เคร่งขรึม สง่า เป็นงานเป็นการมาก
2. ความสมดุลย์แบบไม่ปกติ เป็นการจัดส่วนประกอบที่มีรูปทรงและสัดส่วนไม่เหมือนกันทั้ง 2 ด้าน แต่ยังคงมีน้ำหนักเท่ากัน เช่น วางวัตถุที่มีรูปทรงขนาดใหญ่แต่มีสีอ่อน ๆ ถ่วงดุลย์กับส่วนประกอบอีกด้านหนึ่งซึ่งมีรูปทรงเล็กแต่มีสีเข้มกว่า หรือวางตำแหน่งของวัตถุที่มีขนาดใหญ่อยู่ใกล้จุดกึ่งกลางภาพมากกว่าวัตถุอีกด้านหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็ก เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดความสมดุลย์ได้เช่นเดียวกัน
ช่องว่าง การกำหนดช่องว่าง (Space) ภาพในเฟรม ก็มีส่วนช่วยให้ภาพดูเหมาะสมและมีความหมายขึ้น เช่นในกรณีมีถ่ายวัตถุที่หัน หรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ก็มีวิธีจัดวางตำแหน่งของวัตถุให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ได้โดยการเว้นช่องว่างในทิศทางที่วัตถุหันหรือเคลื่อนที่ไปนั้น ทั้งนี้เพราะผู้ดูจะคาดหมายไปตามทิศทางนั้น เช่น ภาพการเคลื่อนที่ของรถยนต์ การแข่งม้า คนขี่รถจักรยานเป็นต้น
มุมกล้อง ภาพที่ถ่ายในมุมต่าง ๆ กัน โดยตั้งกล้องในมุมต่าง ๆ กันจะมีผลต่อความคิดที่สื่อความหมายไปยังผู้ดูได้ เราอาจแบ่งมุมกล้องได้เป็น 3 ระดับ คือ
ภาพระดับสายตา คือ การถ่ายภาพในตำแหน่งที่กล้องขนานกับพื้นดินในระดับเดียวกับสายตา จะให้ความรู้สึกเป็นปกติธรรมดา ตามลักษณะการมองเห็นของคนทั่วไป ภาพที่ได้บอกเราว่า เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในโลกอย่างไรตามปกติธรรมดา
ภาพมุมต่ำ คือ ตั้งกล้องถ่ายในตำแหน่งต่ำกว่าวัตถุ การถ่ายภาพในมุมต่ำให้ความรู้สึกเน้นถึงความสูงใหญ่หรือความสง่าผ่าเผยของวัตถุ เช่น ถ่ายภาพคนขี่ม้าในทุ่งกว้างโดยตั้งกล้องในระดับต่ำ แหงนกล้องขึ้นหาวัตถุ เป็นต้น
ภาพมุมสูง คือ ตั้งกล้องถ่ายในตำแหน่งสูงกว่าวัตถุจะให้ความรู้สึกถึงความเล็ก ความต่ำต้อยไม่มีความสำคัญนอกจากนี้ยังสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ได้มาก
การประกอบภาพด้วยเส้นและรูปทรง การจัดองค์ประกอบด้วยภาพนั้น อาจยึดหลักการของประกอบภาพเป็นเส้นและรูปทรงต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความรู้สึกและความคิดในภาพ เส้นเหล่านี้อาจเป็นเส้นจริง ๆ ตามที่เห็น เป็นเส้นตามความนึกคิด เช่น การแสดงท่ายื่นแขนออกไปข้างหน้า หรือทุกคนในภาพให้ความสนใจหันหน้าไปทางใดทางหนึ่งในทางเดียวกัน ก็สร้างความรู้สึกให้เกิดเป็นเส้นตามความรู้สึก เป็นต้น สายตาของผู้ดูภาพจะถูกชักจูงให้เกิดความสนใจไปตามทิศทางที่นิ้วมือชี้ไป เมื่อเส้นถูกจัดให้ตัดกันเป็นมุมแหลม ความสนใจจะถูกสร้างขึ้นที่จุดตัดนั้น ผู้ดูอาจหวังว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญปรากฏที่จุดตัดนั้น
นอกจากนี้การจัดองค์ประกอบของภาพให้เป็นเส้นลักษณะต่าง ๆ สามารถสื่อความหมายและความคิดบางอย่างได้ดี ดังนี้
เส้นตามแนวนอน ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวช้า ๆ การหยุดพักและการอยู่นิ่ง
เส้นตามแนวตั้ง ให้ความรู้สึกถึงการหยุดนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวการยืนหยัดด้วยความเข้มแข็ง ความสง่าผ่าเผยและความมั่นคง
เส้นตามแนวทแยง ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและรุนแรง
เส้นซิกแซก แสดงถึงการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน การกระทำที่รุนแรง
เส้นโค้ง แสดงให้เห็นถึงความงดงาม อ่อนช้อย การเคลื่อนที่ไปตามลำดับ
การจัดองค์ประกอบของสี (Color composition)
การถ่ายภาพสีจะต้องควบคุมรายละเอียดต่าง ๆ ของสีให้เหมาะสมด้วย การตั้งกล้องและวัตถุโดยเลือกตำแหน่งของวัตถุด้วยความระมัดระวัง
เมื่อถ่ายภาพโทนสีที่อยู่ใกล้เคียงกันในวงล้อของสีภาพที่ได้มีโทนสีกลมกลืนกันเรียกว่า “color harmony” ให้ความรู้สึกถึงความเงียบสงบ และเป็นการเน้นสีของภาพทั้งหมดด้วย
การถ่ายภาพให้มีสีตรงข้ามตัดกันไม่ควรใช้ในประมาณเท่า ๆ กัน เพราะจะทำให้เกิดความตัดกันของสีสูงมากทำให้แย่งความสนใจของกันและกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สีมากเกินไปในภาพเดียวกัน
การถ่ายภาพสีที่เหมาะสมควรจัดให้สีของวัตถุเป็นสีตรงข้ามกับฉากหลังซึ่งมีความอิ่มตัวของสีและมีค่าต่ำกว่า จึงจะช่วยสนับสนุนให้สีวัตถุเด่นขึ้น ทางหนึ่งที่ช่วยลดความอิ่มตัวของสีฉากหลังก็คือจัดให้ฉากหลังอยู่นอกระยะโฟกัสไป สีนั้นก็จะมีความอิ่มตัวลดลง
ข้อแนะนำในการถ่ายภาพโดยการจัดองค์ประกอบสี
1. พยายามถ่ายภาพวัตถุท่ามกลางฉากหลังที่มีสีอ่อน มองหาฉากหลังที่เป็นกลาง ที่มีความสัมพันธ์กับความอิ่มตัวของสีและค่าของสีต่ำ ฉากหลังที่อยู่นอกระยะชัดจะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกลางขึ้นได้ สีจะดูจางลงเมื่อโฟกัสไม่ชัดที่จุดนั้น
2. เมื่อต้องการเน้นสีของวัตถุและ/หรือ เพิ่มความรู้สึกของกิจกรรมในฉาก ให้สูงขึ้นด้วยการพยายามถ่ายภาพท่ามกลางฉากหลังที่มีสีตรงข้ามกัน
3. ถ้าต้องการเน้นสีของฉากทั้งหมดและ/หรือ เพิ่มความรู้สึกของความเงียบสงบในฉากให้พยายามถ่ายภาพฉากหลังให้มีสีใกล้เคียงกัน บางอย่างอาจมีความอิ่มตัวของสีและค่าของสีอ่อนกว่า
4. เมื่อต้องการลดความรู้สึกถึงความยุ่งเหยิง วุ่นวายลง ควรหลีกเลี่ยงการใช้สีมาก ๆ ในภาพเดียวกัน ควรจำกัดสีให้เหลือน้อยลงเพื่อแสดงความคิดและจัดองค์ประกอบของสีเพื่อนำความสนใจผู้ดูไปยังรายละเอียดที่สำคัญ
หลักการถ่ายภาพสำหรับสิ่งพิมพ์ทั่วไป
หลักการถ่ายภาพเพื่อลงในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เหล่านี้ควรจะเข้าลักษณะของการแจ้งเรื่องราวข่าวสารและเนื้อหาที่น่าสนใจและสอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือหรือสิ่งพิมพ์นั้น ภาพถ่ายดังกล่าวนี้ควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. แจ้งเรื่องราวได้ตรงกับเนื้อหาในสิ่งพิมพ์นั้นซึ่งควรจะมีลักษณะสัมพันธ์กับชีวิตและความสนใจของผู้อ่านสิ่งพิมพ์นั้นด้วย
2. ภาพนั้นควรให้ความหมายที่ดีแก่ผู้ดู มีคุณค่าทั้งทางศิลปะและการถ่ายทอดเรื่องราว
3. ส่วนสำคัญหรือสิ่งที่ถ่ายในภาพควรปรากฎให้เพิ่มเติมและชัดเจนในตัวเอง
4. ภาพถ่ายลงพิมพ์ควรมีขนาดเหมาะสมกับสิ่งพิมพ์และเนื้อหานั้น ๆ
5. ควรมีคำบรรยายภาพซึ่งเขียนอธิบายภาพถ่ายซึ่งไม่ได้แจ้งไว้ในเนื้อเรื่อง อธิบายสิ่งที่ปรากฎในภาพหรือขยายความให้เข้าใจยิ่งขึ้น


เอกสารประกอบ 1 (คลิกดาวน์โหลดที่นี่..) คลิกดาวน์โหลดที่นี่..
 
กลับไปหน้าก่อน...